นายบรรณัช นาคพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.ไอ. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG ผู้นำด้านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) สำหรับระบบปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก เปิดเผยว่าที่ผ่านมา CIG ปรับโครงสร้างกิจการ โดยได้มีการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน การเพิ่มทุนและระดมทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยมีประกาศการซื้อกิจการเข้ามาหลายครั้ง แต่ขณะเดียวกันยังมีข้อสงสัยจากหลายส่วนว่าบริษัทฯ จะเดินไปในทิศทางใดและมีแนวทางการกอบกู้สถานการณ์และสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากธุรกิจหลักโดยใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น มาพัฒนาและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ออกแบบทางวิศวกรรมและสร้างโซลูชั่นส์สำหรับห่วงโซ่อุปทานการควบคุมอุณหภูมิ (Temperature Controlled Supply Chain) รวมถึงระบบการทำความเย็นให้กับ ศูนย์ข้อมูลระบบดิจิทัล (Data Center) ที่ผ่านมาเราก็มีลูกค้าโครงการอยู่จำนวนมาก ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพจากจุดแข็งของเรา ที่พร้อมจะต่อยอดในการสร้างมูลค่าของธุรกิจให้สูงขึ้น
ดังนั้นในช่วงปี 2565 บริษัทฯ จึงเริ่มมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความรู้และศักยภาพที่จะส่งเสริมให้บริษัทฯสามารถส่งเสริมจุดแข็งข้างต้น ประกอบกับการขยายกิจการออกไปอย่างแข็งแกร่ง โดยการเข้าลงทุนใน บริษัท อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (IGU) ซึ่งมี นายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์ ซึ่งมีดีกรีเป็นถึง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อดีต Head Financial Institution Group (Southeast Asia), J.P. Morgan Chase & Co. , Regional Office in Singapore มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งการลงทุนของ IGU นั้นจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เกิดอุปสงค์ (Demand) ด้านพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อการจัดการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน (Electric Vehicles for Logistic and Supply Chain Management) และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Zero Carbon Industrial Estate) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดอุปทาน (Supply) ด้านพลังงานที่มีศักยภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง เช่น ระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS)
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ บริษัท ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (“CIGU”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ รับโอนกิจการทั้งหมดจาก บริษัท กู๊ด เวนเจอร์ส จำกัด กิจการที่ CIGU รับโอนมาทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขนส่ง (Logistics Platform) ซึ่งมีชื่อว่า “VE Logistics Platform”
โดยเป็น Platform ที่ให้บริการจัดการด้านการขนส่งสินค้า (Logistics) ไปยังจุดหมายปลายทางด้วยวิธีการขนส่งผ่านยานยนต์ ทั้งยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและยานยนต์รูปแบบอื่นด้วยแอปพลิเคชัน ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดย VE Logistics Platform นี้จะได้รับการพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นการให้บริการแก่ธุรกิจด้านCold Chain Logistics เป็นหลัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัทฯ ทั้งในด้านการพัฒนารถบรรทุกห้องเย็น (Cold Chain Trucks) รถกระบะห้องเย็น และการก่อสร้างคลังสินค้าห้องเย็น ตลอดจนสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตของกิจการ และความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทฯ ในระยะยาว บริษัทฯ เข้ารับโอนกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อยอดธุรกิจหลัก ซึ่งการรับโอนเฉพาะ VE Logistics Platform มีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อการกิจการทั้งหมดของผู้โอน
ด้านนายสิทธิพร รัตโนภาส อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ดังกล่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภายใต้แรงกดดันด้านราคาพลังงานจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลกระทบอย่างมีนัย สำคัญ ต่อ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ต้นทุนด้านการผลิตของพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็มีต้นทุนลดลงจากสมัยก่อน แต่อย่างไรก็ดีไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผลิตแล้วต้องใช้ทันทีส่งผลให้เสถียรภาพของพลังงานทดแทนยังเป็นประเด็นหลักที่ยังต้องแก้ไข ซึ่งในปัจจุบันระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS) เพื่อสะสมพลังงานทดแทนไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการยังมีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตไฟฟ้าด้วยวัตถุดิบอื่นๆ
อย่างไรก็ดีธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อการจัดการขนส่งเป็นแนวทางหนึ่งที่นอกจากจะสามารถเพิ่มอุปสงค์ด้านกระแสไฟฟ้า (Power Demand) ให้กับ IGU ยังเพิ่มเสถียรภาพให้กับกิจการพลังงานทดแทนของ IGU อีกด้วย
สำหรับรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ที่เตรียมนำเข้ามาจาก Geely เบื้องต้นประมาณ 100 คันนั้นมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ากรณีพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 25 เมกะวัตต์ ซึ่งรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ดังกล่าวต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบและการมี Battery SWAP Station ทำให้ต้องมีแบตเตอรี่สำรองสำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการใช้แบตเตอรี่เหล่านั้นสำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง โดยที่ในอนาคตหลังจากที่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามีแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆ ออกมาทดแทน แบตเตอรี่รุ่นเก่าๆ เหล่านั้นก็จะถูกรีไซเคิล และเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS) ได้ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโครงการฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดการ Synergy ระหว่าง IGU และ CIG นั้น เนื่องจาก รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามีศักยภาพสูงในการทำเป็นรถห้องเย็น หรือ รถตู้เย็น และ ศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็น ซึ่งเป็น Expertise หลักของ CIG อีกทั้งทีมงาน Engineering ของ CIG ยังมีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐในเรื่อง การประหยัดพลังงานทำให้ทีมงานมีความเข้าใจธุรกิจพลังงานอย่างมาก
“ทีมงานมีศักยภาพในการออกแบบ (Design) โครงสร้างของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (DC Charging) และสถานีสลับแบตเตอรี่ไฟฟ้า (Battery SWAP Station) ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็น และContainerตู้เย็นสำหรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนโครงการฯ สำหรับผมส่วนนี้เป็นจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ใน CIG ที่ผมมีความประทับใจอย่างมากหลังจากได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว” นายสิทธิพรกล่าว